ฉิ่งอาน (请安) หรือ น้อมทักทาย “ฉิ่งอาน” กับ “ต่าเชียน” (打千) คือธรรมเนียมปฏิบัติของชาวแมนจู
ชาวแมนจูจะมีธรรมเนียมที่ผู้เยาว์ต้องเคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่ เมื่อผู้เยาว์พบผู้ใหญ่ จะต้อง “ฉิ่งอาน” หรือ “ต่าเชียน” โดย “ฉิ่งอาน” คือการคารวะทักทายแบบกึ่งพิธีการ ส่วน “ต่าเชียน” คือการคารวะทักทายแบบเต็มพิธีการ
โดยทั่วไปผู้เยาว์มีหน้าที่ต้องไป “ฉิ่งอาน” และ “ต่าเชียน” ต่อผู้ใหญ่ที่สูงอายุในบ้าน โดยสามวันจะ “ฉิ่งอาน” หนึ่งครั้ง ห้าวันจะ “ต่าเชียน” หนึ่งครั้ง
นอกจากนี้ คนในรุ่นเดียวกันสามารถทักทายกันด้วยวิธี “ต่าเชียน” ได้เช่นกัน และเวลาบ่าวทาสรับใช้ในบ้านได้พบเจ้านายคนใดก็ตาม ก็ต้อง “ฉิ่งอาน” หรือ “ต่าเชียน”
ท่า “ฉิ่งอาน” และ “ต่าเชียน” ของชายหญิงจะแตกต่างกัน
ท่า “ฉิ่งอาน” ของผู้ชายจะยืนตัวตรงสองมือทิ้งแนบลำตัว แล้วโค้งกายพร้อมกับพูดว่า “ฉิ่ง...(ผู้ใหญ่ตรงหน้า)...อาน”
ส่วนท่า “ต่าเชียน” จะก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าและงอเข่า เท้าขวาลากไปข้างหลังและงอเข่า มือขวาทิ้งแนบลำตัว มือซ้ายกุมหัวเข่าซ้าย แล้วพูดว่า “ฉิ่ง...(ผู้ใหญ่ตรงหน้า)...อาน”
ส่วนท่า “ฉิ่งอาน” และ “ต่าเชียน” ของผู้หญิงเป็นท่าเดียวกัน คือก้มหน้าเล็กน้อย สองมือประสานกันตรงท้อง ย่อเข่าลงพร้อมกับพูดว่า “ฉิ่ง...(ผู้ใหญ่ตรงหน้า)...อาน”
ในธรรมเนียมของชาวแมนจูยังมีธรรมเนียม “定省” (ติ้งเสิ่ง) คือการ “ฉิ่งอาน” ต่อผู้ใหญ่สูงอายุในตอนเช้าและตอนค่ำทุกวัน
โดยในตอนเช้าจะเรียกว่า “请早安” (ฉิงจ่าวอาน : น้อมทักอรุณสวัสดิ์) ส่วนตอนค่ำจะเรียกว่า “请晚安” (ฉิงหว่านอาน : น้อมทักราตรีสวัสดิ์) เช่น สะใภ้ “ฉิ่งอาน” ต่อแม่สามี, ภรรยาน้อย “ฉิ่งอาน” ต่อภรรยาหลวง, ลูก “ฉิ่งอาน” ต่อพ่อแม่, หลาน “ฉิ่งอาน” ต่อปู่ย่า เป็นต้นค่ะ