[ เทพบิดรฝูซี (伏羲)]
เทพบิดรฝูซี (伏羲) หรือ ไท่เฮ่า (太昊) ไม่ได้เป็นจักรพรรดิแต่อย่างใด เพราะในยุคนั้นยังไม่มีแม้แต่กษัตริย์ มีแค่หัวหน้าเผ่า คำ “จักพรรดิ” (皇) เป็นเพียงคำยกย่องในความยิ่งใหญ่ มากคุณูปการของท่านเท่านั้น
กล่าวกันว่าฝูซีเป็นทั้งพี่ชายและสามีของเทพีหฺนฺวี่วาผู้สร้างมนุษย์ ฝูซีและหฺนฺวี่วา(女娲)ได้ครองคู่กันแล้วให้กำเนิดมนุษย์และสรรพสิ่ง จึงสามารถกล่าวได้ว่า ฝูซี คือ “เทพบิดร” และ หฺนฺวี่วา คือ “เทพมารดร” นั่นเอง
เล่าลือกันว่าฝูซีมีเศียรเป็นมนุษย์ มีลำตัวเป็นงู เช่นเดียวกับหฺนฺวี่วา ฝูซีได้ประดิษฐ์ “ปากั้ว” ขึ้นโดยอิงตามหลักเกณฑ์ความเปลี่ยนแปลงของฟ้าดินและสุริยันจันทรา หรือก็คือการใช้ขีดสัญลักษณ์สั้นยาวแบบง่ายๆ แต่แฝงความหมายลึกล้ำ 8 แบบมาให้คำจำกัดความทุกสรรพสิ่งและทุกเรื่องราวในโลกหล้า เนื่องจากฝูซีมีความรู้ลึกซึ้งในการโคจรของสุริยันจันทรา และมีคุณธรรมสูงล้ำจนเจิดจ้าดั่งสุริยันจันทรา ทำให้ได้สมญานามว่า “ไท่เฮ่า”( 太昊) ซึ่งแปลว่า “มหาสวรรค์”
นอกจากนี้ ฝูซียังสร้างแหขึ้นเอาไว้ใช้จับปลาล่าสัตว์โดยเลียนแบบจากรูปลักษณ์ของใยแมงมุม ภาพวาดของฝูซีที่ดูเป็นมนุษย์มักจะปล่อยผมยาวสยายและสวมชุดขนสัตว์ทำจากหนังกวาง และเนื่องจากคำเล่าลือที่ว่าฝูซีมีร่างเป็นงู มีเศียรเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่าฝูซีคือ “ทายาทมังกร” โดยมีนักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า ฝูซีถือกำเนิดในชนเผ่าที่นับถืองู ใบไม้ที่นำมาร้อยเข้าด้วยกันหรือหนังกวางที่ฝูซีสวมก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับเกล็ดหรือลวดลายบนตัวงู จากการเดินทางไปศึกษายังสถานที่จริงของนักประวัติศาสตร์ ทำให้ได้ทราบว่า ตำนานของชนเผ่าเหมียว (苗族) เล่าขานสืบต่อกันมาว่า ชนเผ่าเหมียวล้วนแต่สืบเชื้อสายมาจากฝูซีและหฺนฺวี่วา โดยที่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ มนุษย์ได้ล้มตายลงจนหมดสิ้น เหลือแต่ฝูซีกับหฺนฺวี่วาซึ่งเป็นพี่น้องกัน เพื่อให้เผ่าพันธุ์มนุษย์คงอยู่สืบไป ฝูซีกับหฺนฺวี่วาจึงได้แต่งงานเป็นสามีภรรยากัน
นอกจากจะเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์แล้ว ฝูซียังเป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนส่วนหนึ่งอีกด้วย โดยได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์แทนที่หัวหน้าเผ่าคนสุดท้ายของเผ่าผู้ใช้ไฟ (ซุ่ยเหรินซื่อ : 燧人氏) เกี่ยวกับกำเนิดของฝูซี เล่าขานกันว่า ณ แคว้นหัวซฺวี (华胥国) มีหญิงสาวตระกูลหัวซฺวี (หัวซฺวีซื่อ : 华胥氏) แซ่เฟิง (风 : สายลม) อยู่ผู้หนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งนางได้เดินทางออกไปไกลจากเผ่า เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณบึงสายฟ้า (เหลยเจ๋อ : 雷泽) ก็ได้เห็นรอยเท้าขนาดใหญ่ข้างหนึ่ง จึงลองใช้เท้าของตัวเองไปวัดรอยเท้านั้นดูด้วยความประหลาดใจ จากนั้นก็รู้สึกว่าตัวเองได้ตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว หลังจากตั้งครรภ์อยู่นาน 12 ปี ก็ให้กำเนิดท่านฝูซีออกมา
เนื่องจากท่านฝูซีอยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลานานถึง 12 ปี ดังนั้นชาวจีนจึงถือ 12 ปีเป็น 1 รอบ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงท่านฝูซี
รอยเท้ายักษ์ริมบึงสายฟ้านั้นความจริงแล้วเป็นรอยเท้าของเทพสายฟ้า (เหลยเสิน : 雷神) ซึ่งเป็นชาวเผ่าผู้ใช้ไฟ และเทพสายฟ้ามีร่างเป็นมังกร (งู) มีเศียรเป็นมนุษย์ ดังนั้นฝูซีจึงถือเป็นเผ่าพันธุ์มังกรมาแต่เดิม
ในความเป็นจริง ฝูซีคือหัวหน้าเผ่าโบราณซึ่งมีความเป็นอัจฉริยภาพสูงมากผู้หนึ่ง ในยุคสมัยของฝูซี ความเป็นอัจฉริยะนี้ทำให้ฝูซีเป็นที่ชื่นชมของหญิงสาวเป็นจำนวนมากที่หวังจะได้บุตรที่ชาญฉลาดเช่นเขา ทว่าในบรรดาหญิงสาวทั้งหลาย ฝูซีกลับปักใจแต่กับหฺนฺวี่วา
หฺนฺวี่วากับฝูซีเป็นคนของชนเผ่าฝูซีใหญ่ (大伏羲族) ด้วยกันทั้งคู่ แต่มาจากคนละสาย โดยที่ฝูซีแซ่เฟิง(风)ส่วนหฺนฺวี่วาแซ่เฟิ่ง(凤) แม้ตามศักดิ์แล้วถือว่าทั้งสองเป็นพี่น้องกัน แต่ความจริงไม่ได้เกิดจากพ่อแม่เดียวกันแต่อย่างใด เนื่องจากตั้งแต่ยุคของเผ่าผู้ใช้ไฟ ซึ่งเป็นยุคก่อนหน้านั้น ก็เริ่มห้ามไม่ให้หญิงชายซึ่งมีสายเลือดเดียวกันในเผ่าเดียวกันสมรสกันแล้ว ดังนั้นที่เล่าลือกันว่าฝูซีกับหฺนฺวี่วาเป็นพี่ชายน้องสาวที่สมรสกันเอง เป็นเพียงเทพตำนานเท่านั้น
คุณูปการสำคัญๆ ที่ฝูซีสร้างให้แก่ชาวจีนได้แก่
1. ประดิษฐ์คิดค้นและสอนให้ผู้คนรู้จักทำแหจับปลา
2. เริ่มประดิษฐ์คิดค้นสัญลักษณ์สำหรับนำมาใช้จารึกเรื่องราวแทนการใช้ปมเชือกเช่นที่ผ่านๆ มา
3. ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องดนตรี อาทิ พิณ และริเริ่มร้อยเรียงทำนองเพลง นำเสียงดนตรีมาสู่ชีวิตของผู้คน
4. สร้างระบบปฏิทิน
5. ประดิษฐ์คิดค้นปากั้ว
แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นคุณูปการสูงสุดของฝูซี ก็คือการประดิษฐ์คิดค้นปากั้วนั่นเอง
แม้ถังชีกงจื่อ ผู้เขียนซีรีส์ “สามชาติสามภพ” จะไม่บอกกล่าวตรงๆ แต่สันนิษฐานว่า เทพบิดรและเทพมารดรที่เป็นท่านพ่อและท่านแม่ของม่อเยวียน จำลองมาจากเทพบิดรฝูซีและเทพมารดรหฺนฺวี่วา
นอกจากนี้ ในคำนิยมเรื่องหัวซวีอิ่น(《华胥引》)ของถังชีกงจื่อ ที่เขียนให้โดยวินเซ็นต์ แฟง หรือ ฟังเหวินซาน(方文山)ผู้กำกับและนักแต่งเนื้อร้องชื่อดังชาวจีนไต้หวัน ยังเขียนไว้ว่า : ในคัมภีร์โบราณ《列子•黄帝》จารึกไว้ว่า หวงตี้ (黄帝:จักรพรรดิเหลือง)ทรงกังวลว่าบ้านเมืองจักเกิดความวุ่นวาย ด้วยเหตุนี้จึง “บรรทมยามทิวาวันและสุบินว่า เสด็จประพาสยังแคว้นหัวซฺวี (胥氏国)” ในพระสุบินได้ทอดพระเนตรเห็นแว่นแคว้นในอุดมคติของพระองค์ ครั้นทรงตื่นขึ้นมาจึงใช้สิ่งที่ได้เห็นในพระสุบินมาปกครองบ้านเมือง แผ่นดินจึงร่มเย็นเป็นสุข ต่อมาภายหลัง หวงตี้นำสิ่งที่เห็นในพระสุบินมานิพนธ์เป็นทำนองเพลงหนึ่งเพลง นามว่า “หัวซฺวีอิ่น” (《华胥引》)เล่าขานกันว่าหากบรรเลงบทเพลงนี้ทั้งสามท่อนพร้อมกัน จักลุ่มหลงเลอะเลือน แลเห็นสรรพชีวิตและสรรพลักษณ์ สมหวังในทุกสิ่งที่ปรารถนา คาดว่าชื่อหนังสือ “หัวซฺวีอิ่น” (《华胥引》) เล่มนี้ของถังชีกงจื่อ น่าจะมีที่มาจากชื่อนี้เอง
*** เผ่าผู้ใช้ไฟ (ซุ่ยเหรินซื่อ : 燧人氏) คือเผ่าผู้ซึ่งคิดค้นและครอบครองวิธีจุดและรักษาไฟเอาไว้ไม่ให้ดับ ในยุคโบราณ มนุษย์ต้องกินเนื้อดิบเพราะจุดไฟไม่เป็น เล่าขานกันว่าเผ่าผู้ใช้ไฟเป็นเผ่าแรกที่คิดค้นวิธีจุดไฟได้ จึงมีได้รับการเคารพยกย่องจากเผ่าอื่นๆ ให้มีอำนาจสูงสุด และในสมัยโบราณ เผ่าที่ได้รับยกย่องให้มีอำนาจสูงสุด หัวหน้าเผ่าจะถูกเรียกว่า “ตี้” (帝)หรือ “หวง” (皇)ซึ่งในปัจจุบันจะแปลว่า “จักรพรรดิ” แต่หากดูตามความหมายที่แท้จริงในยุคนั้นแล้ว ควรที่จะแปลว่า “กษัตริย์” จะเหมาะสมกว่า เพราะประเทศจีนในเวลานั้นยังไม่ได้มีรูปแบบของ “ประเทศ” ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่เป็นแค่การรวมตัวกันของชนเผ่าหลายๆ ชนเผ่าเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง :
https://goo.gl/Uj8rhM
แก้ไขเมื่อ 14 มี.ค. 2561, 10:55 โดย Admin