หัวข้อ : "ห้าตี้” (五帝 : ห้าจักรพรรดิ)องค์ที่สี่ พระเจ้าหยาว(尧)

โพสต์เมื่อ 11 มี.ค. 2561, 16:48

“ห้าตี้” (五帝 : ห้าจักรพรรดิ)องค์ที่สี่ พระเจ้าหยาว(尧)


.
พระเจ้าหยาว (尧 : ประมาณ 2377-2259 ปีก่อนคริสตกาล) คือมหาราชในตำนานของจีน
.
พระเจ้าหยาว แซ่อีฉี (伊祁)นาม ฟั่งซฺวิน(放勋)เป็นโอรสของตี้คู่ พระมารดาชื่อ ชิ่งโตว(庆都)เป็นคนของตระกูลเฉินเฟิงซื่อ(陈锋氏)เป็นบุตรีของอีฉีโหว(伊耆侯) เป็นพระชายาคนที่สามของตี้คู่ หลังจากอภิเษกสมรสกับตี้คู่ พระนางชิ่งโตวยังคงพักอยู่ที่บ้านเดิมของบิดา ต่อมาเมื่อพระนางตั้งครรภ์และให้กำเนิดฟั่งซฺวิน เป็นจังหวะที่พระมารดาของตี้คู่ถึงแก่กรรมพอดี ตี้คู่ที่เป็นบุตรกตัญญูอย่างมากเสียใจกับการตายของพระมารดา ท่านไว้ทุกข์ให้แม่สามปี ออกทุกข์แล้วก็ยังคงไม่มีแก่ใจจะสนใจอะไรทั้งสิ้น รวมถึงฟั่งซฺวิน โอรสที่เพิ่งเกิด ฟั่งซฺวินจึงพักอยู่ที่บ้านท่านตาจนอายุสิบขวบ จึงค่อยกลับไปอยู่กับท่านพ่อ ทำให้ในวัยเด็ก ฟั่งซฺวินใช้แซ่ “อีฉี” (อ่าน “อีฉี” เหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน) ตามท่านตา
.
เมื่อฟั่งซฺวินอายุได้ 13 ปี ได้รับแต่งตั้งให้กินเมืองอฺวี๋ถาว(于陶)เริ่มช่วยเหลือท่านพี่ ตี้จื้อ(帝挚)ซึ่งสืบทอดตำแหน่งต่อจากตี้คู่บริหารปกครองบ้านเมือง
.
ในช่วงวัยหนุ่ม ฟั่งซฺวินมีชื่อเสียงเลื่องลือด้านการทำภาชนะดินเผา เล่าขานกันว่าฟั่งซฺวินรูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าเรียบเนียน มีรูม่านตาสามรู และมีผมยาวมาก จักรพรรดิคู่เห็นบุตรของตนมีความสามารถโดดเด่น เมื่อฟั่งซฺวินอายุได้ 15 ปี จึงเปลี่ยนเป็นแต่งตั้งให้ฟั่งซฺวินเป็นถังโหว(唐侯)ให้กินดินแดนถัง(唐地)ฟั่งซฺวินจึงได้รับฉายานามว่า “ถาวถังซื่อ”(陶唐氏 : ท่านถาวถัง)นับแต่นั้นมา
.
หลังจากจักรพรรดิคู่สวรรคต จื้อ (挚) ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของฟั่งซฺวินก็สืบตำแหน่งกษัตริย์แทนที่ ในตอนนั้นฟั่งซฺวินอายุได้ 15 ปี และได้รับแต่งตั้งให้เป็นถังโหวอยู่ก่อนแล้ว ฟั่งซฺวินเป็นผู้ปกครองที่ดีมาก ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้าน พัฒนาการกสิกรรม จัดการกับระบบการปกครองอย่างตั้งอกตั้งใจจนดินแดนในปกครองร่มเย็นเป็นสุข ฟั่งซฺวินจึงได้รับความรักใคร่เทิดทูนจากปวงประชาและความชื่นชมจากหัวหน้าเผ่าต่างๆ เป็นจำนวนไม่น้อย ขณะที่จื้อไม่ได้มีผลงานการปกครองที่โดดเด่นใดๆ เลย เหล่าหัวหน้าเผ่าส่วนใหญ่จึงเริ่มเหินห่างจากจื้อไปเข้าหาฟั่งซฺวินแทน ดังนั้นในปีที่ 9 ที่จื้อเป็นกษัตริย์ จื้อจึงนำเหล่าขุนนางมาเยือนฟั่งซฺวินยังเมืองหลิวอี้ด้วยตัวเอง แล้วสละตำแหน่งกษัตริย์ให้แก่ฟั่งซฺวิน
.
ฟั่งซฺวินขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทนที่จื้อ โดยมีนามประจำตำแหน่งว่า “หยาว” (尧)เนื่องจากในตอนแรกท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ถังโหว” (唐侯)พระเจ้าหยาวจึงใช้คำ “ถัง” (唐)เป็นชื่อรัชกาลของตน ส่วนชนรุ่นหลังต่างเรียกขานท่านว่า “ถังหยาว” (唐尧)
หลังจากขึ้นครองราชย์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องอุทกภัย พระเจ้าหยาวจึงตั้งเมืองผิงหยาง (平阳) เป็นราชธานี
.
ในช่วงแรกที่พระเจ้าหยาวขึ้นครองราชย์ ยังไม่มีการกำหนดช่วงเวลาหนึ่งปี และยังไม่มีการกำหนดช่วงเวลาเริ่มต้น-สิ้นสุดฤดูกาลที่แม่นยำนัก ทำให้ชาวนาพลาดช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ควรจะเริ่มทำการเพาะปลูกไปหลายครั้ง พระเจ้าหยาวจึงตั้งกลุ่มคนขึ้นมารวบรวมประสบการณ์ของคนโบราณและสำรวจการโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ตลอดจนกลุ่มดาวต่างๆ เพื่อทำการแก้ไขระบบปฏิทินให้มีความแม่นยำมากขึ้นโดยเฉพาะ โดยมีการกำหนดช่วงเวลาของฤดูกาลทั้งสี่ฤดู (ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว) ถือช่วงข้างขึ้นข้างแรมของพระจันทร์ครบ 1 รอบเป็น 1 เดือน ช่วงเวลาโคจรครบ 1 รอบของดวงอาทิตย์เป็น 1 ปี และกำหนดให้ 1 ปีมี 366 วัน ซึ่งเป็นระบบปฏิทินแรกเริ่มสุดที่มีการบันทึกไว้ของจีน
.
หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าหยาวยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะเรียบง่ายดังเดิม โดยอาศัยอยู่เรือนมุงหญ้า รับประทานเพียงข้าวต้มจืดชืด (น้ำมาก ข้าวน้อย) สวมแต่เสื้อผ้าเนื้อหยาบ และคอยฟังความเห็นตลอดจนคำร้องทุกข์ของประชาราษฎร์ตลอดเวลา โดยจะตั้ง “กลองร้องทุกข์” เอาไว้ที่หน้าประตูวังซึ่งสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ประชาราษฎร์คนใดมีความเห็นเกี่ยวกับตัวท่านหรืออาณาจักรจะบอกกล่าวฟ้องร้อง ก็ให้มาตีกลองนี้ได้ทุกเวลา โดยหากมีคนมาตีกลอง พระเจ้าหยาวจะรีบลุกมาเชิญคนผู้นั้นเข้าพบทันที และฟังสิ่งที่คนผู้นั้นพูดอย่างตั้งใจ
.
เพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถมายังราชสำนักได้ง่าย พระเจ้าหยาวยังบัญชาให้ปัก “ป้ายวิจารณ์” ซึ่งเป็นเสาไม้เอาไว้ตามถนนหนทางสายสำคัญๆ และส่งคนไปเฝ้าที่ข้างเสาไม้นี้ตลอดเวลา หากราษฎรมีความเห็นใดต้องการแจ้ง ก็สามารถบอกต่อผู้ที่เฝ้าเสาไม้นี้ได้ และหากผู้แจ้งยินดีที่จะไปยังราชสำนัก ผู้เฝ้าเสาไม้นี้ก็จะช่วยบอกทางให้ เนื่องจากวิธีนี้ทำให้พระเจ้าหยาวได้รับทราบคำร้องทุกข์ของทวยราษฎร์ทันการณ์อยู่เสมอ ท่านจึงเข้าใจในความทุกข์ยากของทวยราษฎร์อย่างลึกซึ้ง
.
ในยุคที่พระเจ้าหยาวครองราชย์ อาณาจักรยังไม่มีระบบการปกครองพื้นฐานอันแสดงถึงความเป็นอาณาจักร โดยคำว่า “อาณาจักร” นี้ยังเป็นแค่การรวมตัวกันของชนเผ่าหลายๆ ชนเผ่าเท่านั้น ความผูกพันที่มีต่ออาณาจักรจึงเบาบางอย่างมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความเด็ดขาดในการปกครองอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้หลังจากรวบรวมประสบการณ์ด้านการปกครองมาได้ระยะหนึ่ง พระเจ้าหยาวก็เริ่มก่อตั้งระบบการปกครองของอาณาจักรขึ้น โดยหนึ่งในระบบการปกครองที่ถูกก่อตั้งขึ้นที่สำคัญอย่างมากได้แก่ การแต่งตั้งขุนนางตามหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
ต่อมาเมื่อพระเจ้าหยาวเริ่มชราภาพ ก็เริ่มมองหาผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งแทนตน แต่พระเจ้าหยาวเห็นว่าบุตรชายคนโต ตานจู (丹朱) ไม่มีคุณสมบัติดีพอที่จะสืบทอดตำแหน่งของท่าน ขุนนางใหญ่ซึ่งได้แก่หัวหน้าเผ่าต่าง ๆ เรียกรวมว่า “ซื่อเยว่” (四岳) ได้เสนอ “กุ่น” (鲧) ให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิแทนพระเจ้าหยาว
.
นับแต่เหยียนตี้อวี๋หว่าง (榆罔) รบแพ้หวงตี้เป็นต้นมา สหชนเผ่าเสินหนงก็แตกออกเป็นสายเผ่าก้งกง (共工) สายเผ่าซื่อเยว่(四嶽)และสายเผ่าซื่อเชียง (氏羌) เผ่าก้งกงเคยทำสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่กับจวนซฺวี(颛顼)มาก่อน บุตรสาวของก้งกงได้สมรสกับบุตรชายของจวนซวี และให้กำเนิด “กุ่น” ออกมา (กุ่นใช้แซ่ซื่อ (姒)) ต่อมากุ่นได้สมรสกับซิวจฺวี่(脩己)บุตรีของโหย่วซินซื่อ(有莘氏 : ท่านโหย่วซิน แล้วให้กำเนิด อวี่ (禹)
.
ในยุคสมัยของพระเจ้าหยาว เป็นยุคสมัยที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่จนเป็นตำนาน โดยอุทกภัยในครั้งนั้นรุนแรงถึงขนาดจมภูเขาไปเป็นลูก ๆ พระเจ้าหยาวให้ความกังวลสนใจต่อความทุกข์ยากของทวยราษฎร์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก และสอบถามความเห็นจากซื่อเยว่ว่ามีผู้ใดสามารถคลี่คลายปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ได้บ้าง ซื่อเยว่ได้เสนอให้กุ่นซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของจักรพรรดิจวนซวี และเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าหยาวเป็นผู้แก้ปัญหาอุทกภัย เพื่อจะได้ทดสอบว่ากุ่นเหมาะสมจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งกษัตริย์สืบต่อจากพระเจ้าหยาวหรือไม่ด้วยอีกเหตุผลหนึ่ง แต่พระเจ้าหยาวปฏิเสธว่ากุ่นพึ่งพาไม่ได้ เพราะมักจะละเมิดคำสั่งอยู่เสมอจนทำให้ผลประโยชน์ของทวยราษฎร์ได้รับความเสียหาย ซื่อเยว่ก็ยืนกรานขอให้ลองทดสอบกุ่นดูก่อน หากไม่ไหวจริง ๆ ก็ค่อยปลดตำแหน่งกุ่น พระเจ้าหยาวจึงส่งกุ่นไปลองแก้ปัญหาอุทกภัย
.
ผลคือกุ่นแก้ปัญหาอุทกภัยอยู่นาน 9 ปีก็ยังไม่สำเร็จ จึงสูญเสียคุณสมบัติในการสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์แทนพระเจ้าหยาวไป
.
เมื่อกุ่นไม่ผ่านการทดสอบ ซื่อเยว่จึงเสนอ “ซุ่น” (舜) ให้เป็นผู้สืบทอด โดยบอกว่าซุ่นมีความกตัญญูสูงส่ง แม้บิดา มารดาเลี้ยง และน้องชายต่างมารดาจะคิดร้ายและพยายามฆ่าเขาให้ตาย ซุ่นก็ยังคงทำดีกับคนทั้งสามโดยไม่คิดแก้แค้นเอาคืน ทำให้ครอบครัวยังคงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดอง พระเจ้าหยาวจึงยกบุตรสาวสองคน เอ๋อหวง(娥皇)กับหฺนฺวี่อิง(女英)ให้เป็นภรรยาของซุ่น เพื่อให้คอยจับตาสังเกตดูพฤติกรรมภายในบ้านของซุ่น นอกจากนี้ยังลองให้ซุ่นปกครองเมือง ต้อนรับแขกเหรื่อ เพื่อทดสอบความสามารถของซุ่น แล้วยังบัญชาให้ซุ่นไปที่ภูเขาเพื่อจะใช้พายุฝนและเหล่าสัตว์ป่าดุร้ายรวมถึงงูพิษทดสอบความกล้าหาญของซุ่น
.
เมื่อซุ่นสามารถผ่านการทดสอบหมดทุกด่านกินเวลานานสามปี พระเจ้าหยาวจึงตัดสินใจที่จะสละบัลลังก์ให้ซุ่นได้อย่างวางใจ และทำพิธีสละบัลลังก์ให้แก่ซุ่นอย่างเป็นทางการ
หลังจากสละบัลลังก์ได้ 28 พระเจ้าหยาวก็ถึงแก่กรรม กล่าวกันว่าหลังจากพระเจ้าหยาวถึงแก่กรรม ทวยราษฎร์ต่างร่ำไห้ทุกข์เทวษ ทั่วหล้าหยุดการร้องรำทำเพลงไป 3-4 ปีเพื่อไว้อาลัยแก่พระเจ้าหยาว


Admin เข้าร่วมเมื่อ 11 มี.ค. 2561, 16:48

0 ความคิดเห็น