โพสต์เมื่อ 11 มี.ค. 2561, 17:02
“ห้าตี้” (五帝 : ห้าจักรพรรดิ)องค์ที่ห้า พระเจ้าซุ่น(舜)
พระเจ้าซุ่น (舜) แซ่หยาว (姚) เป็นคนตระกูลกุยซื่อ (妫氏) นามจ้งหัว (重华) นามรองโตวจวิน (都君) ประวัติศาสตร์เรียกท่านว่า “อฺวี๋ซุ่น” (虞舜) พระเจ้าซุ่นมักได้รับการขนานนามว่าเป็นมหาราชร่วมกับพระเจ้าหยาว(尧)
.
ตามตำนานกล่าวว่า ครอบครัวของซุ่นยากจนมาก แม้จะเป็นบุตรหลานของจักรพรรดิจวนซฺวี แต่ก็เป็นสามัญชนมาได้หลายรุ่นแล้ว ทั้งยังเป็นเพียงชนชั้นล่างในสังคมอีกด้วย บิดาของซุ่นนามว่า กู๋โส่ว (瞽叟 : แปลว่า เฒ่าตาบอด) มารดาของซุ่น ว่อเติงซื่อ(握登氏)ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ซุ่นยังเล็กมาก จากนั้นกู๋โส่วก็มีภรรยาใหม่ มารดาเลี้ยงของซุ่นให้กำเนิดบุตรชายนามว่า เซี่ยง (象) ซุ่นใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวที่ “บิดาหัวรั้น มารดาวางอำนาจ น้องชายโอหัง” บิดาของซุ่นจิตใจสามานย์ มารดาเลี้ยงหน้าเนื้อใจเสือ น้องชายเย่อหยิ่งอวดดี คนทั้งสามต่างรวมหัวกันพยายามจะฆ่าซุ่นให้ตาย แต่ซุ่นก็ยังคงกตัญญูกตเวทีต่อบิดาและมารดาเลี้ยงไม่เสื่อมคลาย ทั้งยังใจดีกับน้องชายอยู่เสมอ ยามใดที่คนในครอบครัวพยายามจะฆ่าเขา ซุ่นก็จะหลบหนีไปซ่อนตัวที่อื่นเป็นการเลี่ยงสักพัก รอจนสถานการณ์ดีขึ้นแล้วจึงค่อยหวนกลับมาบ้านคอยช่วยเหลือคนในครอบครัวทั้งสามดังเดิม
.
ทั้งที่อาศัยอยู่ในครอบครัวและสภาพแวดล้อมเลวร้ายถึงขีดสุดแบบนี้ ซุ่นกลับยังคงสามารถทำตัวกตัญญู เอ็นดูน้องชาย และทำให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่นอย่างมากในตำนานเกี่ยวกับพระเจ้าซุ่น
.
เนื่องจากครอบครัวของซุ่นมีฐานะยากจน ซุ่นจึงต้องทำงานที่ต้องใช้แรงงานหลายอย่าง และต้องเดินทางไปทำงานเหล่านี้ตามที่ต่างๆ แทบไม่ได้หยุดพักเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว อาทิ ไปทำนาที่ภูเขาลี่ (ลี่ซาน : 历山) ไปจับปลาที่บึงสายฟ้า (เหลยเจ๋อ : 雷泽) ทำเครื่องปั้นดินเผาที่ริมแม่น้ำฮวงโห ประดิษฐ์ภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เนินเขาโซ่ว (โซ่วชิว : 寿丘) แล้วยังไปทำการค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ตุ้นชิว(顿丘)กับฟู่เซี่ย (负夏)
.
เล่าลือกันว่า ซุ่นมีชื่อเสียงโด่งดังมากมาตั้งแต่อายุได้ 20 ปี โดยความโด่งดังนี้คือด้านความกตัญญู ทั้งที่ถูกบิดา มารดาเลี้ยง และน้องชายพยายามหาทางทำร้ายถึงขนาดนั้น ซุ่นก็ยังคงทำตัวกตัญญูกตเวทีอย่างเสมอต้นเสมอปลายโดยไม่เคยคิดแก้แค้นหรือหนีจากไป จึงได้รับการยกย่องชื่นชมจากผู้คนอย่างมาก จน 10 ปีผ่านไป เมื่อพระเจ้าหยาวสอบถามขุนนางใหญ่ซึ่งได้แก่หัวหน้าเผ่าต่าง ๆ เรียกรวมว่า “ซื่อเยว่” (四岳) ว่าจะให้ผู้ใดสืบทอดตำแหน่งต่อจากตนดี ซื่อเยว่จึงได้เสนอซุ่น พระเจ้าหยาวจึงยกบุตรีสองนาง คือเอ๋อหวง(娥皇)กับหฺนฺวี่อิง(女英)ให้เป็นภรรยาของซุ่นเพื่อให้ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมและคุณสมบัติว่าซุ่นเหมาะสมที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากตนหรือไม่
.
ผลคือซุ่นไม่เพียงแต่สามารถทำให้ภรรยาทั้งสองอยู่ร่วมกับบิดา มารดาเลี้ยง และน้องชายของเขาอย่างปรองดองได้เท่านั้น ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความเป็นผู้นำอันโดดเด่น รวมถึงความเป็นที่นับหน้าถือตา โดยที่เมื่อซุ่นไปทำนาที่ภูเขาลี่ ผู้คนที่ภูเขาลี่ต่างพร้อมใจกันเว้นพื้นที่ให้ เมื่อไปจับปลาที่บึงสายฟ้า ผู้คนที่บึงต่างพากันขึ้นบกเพื่อเปิดโอกาสให้ซุ่นจับปลาได้มาก ๆ นั่นคือทุกที่ที่ซุ่นไปทำงาน ผู้คนที่นั่นจะพร้อมใจกันเปิดโอกาสให้เขาทำงานได้ผลผลิตมาก ๆ ด้วยความเต็มใจ เมื่อเขาไปทำเครื่องปั้นดินเผา ก็เป็นการกระตุ้นให้ผู้คนที่ทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่ละแวกนั้นตั้งใจทำงานของตนมากขึ้น ไม่ทำงานลวก ๆ ไม่ว่าซุ่นจะเดินทางไปอยู่ที่ใด ผู้คนต่างเต็มใจติดตามไปอยู่ใกล้ ๆ จนกลายเป็นชุมชน
.
เมื่อพระเจ้าหยาวได้ทราบเรื่องเหล่านี้ก็ยินดีอย่างยิ่ง และประทานเสื้อผ้าเนื้อดีกับพิณ พร้อมด้วยวัวและแพะให้แก่ซุ่น ทั้งยังปลูกเรือนให้อีกด้วย
เมื่อซุ่นได้รับทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านี้มา กู๋โส่วกับเซี่ยงก็ริษยาซุ่นเป็นอันมากและคิดสังหารซุ่นเสียเพื่อจะได้ยึดครองทรัพย์สินเหล่านี้มาเป็นของตัว วันหนึ่งกู๋โส่วขอให้ซุ่นขึ้นไปซ่อมหลังคาเรือน แล้วจุดไฟเผาเรือนเพื่อจะคลอกซุ่นให้ตายอยู่ข้างบน แต่ซุ่นได้ใช้หมวกสานสองใบทำเป็นปีกกระโดดลงมาจากหลังคารอดพ้นจากภัยในครั้งนี้ไปได้ ต่อมากู๋โส่วขอให้ซุ่นช่วยขุดบ่อน้ำ เมื่อขุดได้ลึกมากแล้ว กู๋โส่วกับเซี่ยงก็เอาดินถมลงมาหมายจะฝังซุ่นทั้งเป็น โชคดีที่ซุ่นนึกเอะใจอยู่ก่อน จึงแอบขุดโพรงเอาไว้ล่วงหน้าที่ผนังของบ่อไปด้วยในระหว่างที่ขุดบ่อ เมื่อกู๋โส่วกับเซี่ยงคิดจะฝังเขาทั้งเป็น ซุ่นจึงเข้าไปหลบในโพรงสำรองนี้แล้วขุดต่อไปจนหนีรอดออกมาได้
.
หลังจากหนีรอดออกมาจากบ่อได้แล้ว ซุ่นก็ซ่อนตัวอยู่พักหนึ่งจนกู๋โส่วกับเซี่ยงนึกว่าแผนการฆ่าซุ่นของพวกตนสำเร็จแล้ว เซี่ยงก็บอกว่าแผนนี้เขาเป็นคนคิด ดังนั้นเขาขอแบ่งพิณกับขอบุตรีของพระเจ้าหยาวทั้งสองคนมาเป็นภรรยาของตน จากนั้นยกวัว แพะ และเรือนของซุ่นให้บิดามารดา เมื่อแบ่งสมบัติของซุ่นกันแล้ว เซี่ยงก็เข้าไปอยู่ในเรือนของซุ่นและดีดพิณของซุ่น ซุ่นเลือกที่จะปรากฏตัวออกมาพบเซี่ยงในตอนนี้ ทำให้เซี่ยงตกใจและไม่พอใจอย่างมาก แต่ก็รีบแก้ตัวว่า เขามาดีดพิณของซุ่นเพราะคิดถึงซุ่นมาก ซุ่นก็ไม่ได้พูดว่าตำหนิอะไร และทำตัวกตัญญูกตเวทีต่อบิดา มารดาเลี้ยง และใจดีต่อน้องชายเหมือนเช่นปกติต่อไป
ต่อมาพระเจ้าหยาวได้ให้ซุ่นได้มาลองร่วมรับฟังการประชุมข้อราชการ ปกครองเหล่าขุนนาง ต้อนรับแขกเหรื่อ และการทดสอบอื่น ๆ อีกสารพัดอย่าง ซึ่งซุ่นไม่เพียงแต่สามารถผ่านการทดสอบทุกด่านได้อย่างสบายๆ เท่านั้น ในด้านการใช้คนยังพัฒนาไปเหนือล้ำกว่าพระเจ้าหยาวอีกด้วย โดย “ปาหยวน” (八元) กับ “ปาข่าย” (八恺) ยอดคนซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือมานานที่แม้แต่หยาวก็ยังไม่สามารถเรียกใช้ได้นี้ ซุ่นสามารถสั่งให้ปาหยวนดูแลด้านที่ดิน และสั่งให้ปาข่ายดูแลด้านการศึกษาได้
.
ในยุคของพระเจ้าหยาว พระเจ้าหยาวเคยสั่งให้ซุ่นเดินทางตรวจตราแผ่นดิน ในตอนนั้นซุ่นพบว่าเผ่าก้งกง (共工)เผ่าฮวนโตว(驩兜) และเผ่าซานเหมียว(三苗)คิดก่อการกบฏ จึงกลับมาแจ้งต่อพระเจ้าหยาวให้เนรเทศหัวหน้าของสามเผ่านี้ไปอยู่ไกลลิบคนละทิศกัน เมื่อคนชั่วถูกลงโทษ ผู้คนทั่วหล้าจึงพากันปีติยินดี
.
นอกจากนี้ซุ่นยังแต่งตั้งให้ อฺวี่(禹)ทำหน้าที่แก้ปัญหาอุทกภัยแทน กุ่น ผู้เป็นบิดาที่แก้ปัญหานี้ไม่สำเร็จ และอฺวี่สามารถใช้วิธีขุดคูคลองระบายน้ำที่ท่วมขังแก้ปัญหาน้ำท่วมได้สำเร็จ เท่ากับว่าซุ่นสามารถแก้ปัญหาที่พระเจ้าหยาวไม่สามารถแก้ได้ให้ลุล่วงไปได้
.
เมื่อซุ่นสามารถผ่านการทดสอบของพระเจ้าหยาวได้ จึงได้รับการยอมรับจากพระเจ้าหยาวในที่สุด พระเจ้าหยาวได้เลือกวันอันมีฤกษ์เหมาะสมเป็นมงคลทำพิธีสละบัลลังก์ให้แก่ซุ่น
.
หลังจากพระเจ้าซุ่นขึ้นครองราชย์ เล่าขานกันว่าท่านได้มีการเคลื่อนไหวในด้านการปกครองไม่ใช่น้อย พระเจ้าซุ่นได้แก้ไขระบบปฏิทินใหม่ให้ดียิ่งขึ้น และทำพิธีเซ่ไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาและเทพเทวาทั้งปวง
กล่าวกันว่าในปีที่พระเจ้าซุ่นขึ้นครองราชย์ พระเจ้าซุ่นได้ออกประพาสยังท้องที่ต่างๆ มีการเซ่นไหว้ภูเขาเรืองนามและเรียกตัวหัวหน้าเผ่าที่ปกครองถิ่นนั้นๆ มาเข้าพบเพื่อสอบถามเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในท้องที่ ทั้งยังวางหมายกำหนดการออกประพาสแต่ละภูมิภาค 5 ปีต่อครั้งเพื่อตรวจสอบการปกครองของเหล่าหัวหน้าเผ่า ทั้งยังมีการบำเหน็จรางวัลและลงโทษที่ชัดเจนยุติธรรม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าพระเจ้าซุ่นให้ความสำคัญกับการติดต่อสัมพันธ์กับส่วนภูมิภาคมากเพียงใด อันเป็นการช่วยเพิ่มอำนาจในการปกครองของราชสำนักต่อส่วนภูมิภาค
มาตรการในการปกครองของพระเจ้าซุ่นที่เล่าขานกันยังมีอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ วาดวิธีการลงโทษทั้ง 5 แบบลงบนภาชนะสิ่งของเพื่อเอาไว้เตือนใจผู้คน และใช้โทษเนรเทศแทนโทษทรมาน เพื่อเป็นการผ่อนปรนความรุนแรงของการลงโทษลง แต่ก็กำหนดให้มีโทษโบยด้วยแส้ ตีด้วยไม้บรรทัด และการใช้เงินไถ่โทษ โดยเฉพาะกับนักโทษที่ไม่ยอมกลับตัวกลับใจจะลงโทษหนักเป็นพิเศษ
.
จากเนื้อหาที่บันทึกอยู่ใน “สื่อจี้” หลังจากที่พระเจ้าซุ่นครองราชย์ได้ 28 ปี พระเจ้าหยาวก็ถึงแก่กรรม หลังจากพระเจ้าซุ่นไว้ทุกข์ให้พระเจ้าหยาวเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ก็สละบัลลังก์ให้แก่ตานจู บุตรของพระเจ้าหยาว จากนั้นพระเจ้าซุ่นจึงถอยห่างไปเร้นกายยังทางตอนใต้ของแม่น้ำหนาน (หนานเหอ : 南河) แต่เหล่าหัวหน้าเผ่าทั่วหล้าต่างพากันไปเยือนขอคำสั่งและคำแนะนำด้านการปกครองแต่กับพระเจ้าซุ่นโดยไม่สนใจจะไปเข้าพบตานจู แม้แต่ผู้ที่คิดจะฟ้องร้องคดีก็ยังไปฟ้องที่พระเจ้าซุ่น ปวงประชาก็พากันแต่งเพลงสรรเสริญพระเจ้าซุ่นโดยไม่เห็นตานจูอยู่ในสายตา ด้วยเหตุนี้พระเจ้าซุ่นจึงถูกบีบให้ต้องกลับมาครองราชย์อีกครั้งโดยปริยาย หลังจากพระเจ้าหยาวถึงแก่กรรม พระเจ้าซุ่นครองราชย์ต่อมาอีก 39 ปีก็ถึงแก่กรรม
.
หลังจากที่พระเจ้าหยาวถึงแก่กรรมแล้ว พระเจ้าซุ่นก็ได้ทำการปรับปรุงระบบการปกครองครั้งใหญ่อีกครั้ง จากเดิมหน้าที่ของตำแหน่งแต่ละคนต่างคลุมเครือไม่ชัดเจน ซุ่นจึงกำหนดตำแหน่งและหน้าที่ประจำตำแหน่งให้เป็นที่ชัดเจน เช่น บัญชาให้อฺวี่ดำรงตำแหน่งซือคง (司空) รับผิดชอบจัดการเรื่องน้ำและที่ดิน บัญชาให้ชี่ (弃) ดำรงตำแหน่งโฮ่วจี้ (后稷) รับผิดชอบจัดการดูแลด้านกสิกรรม , บัญชาให้ชี่ (契) ดำรงตำแหน่งซือถู (司徒) รับผิดชอบด้านการสั่งสอนอบรม บัญชาให้กาวถาว(皋陶)ดำรงตำแหน่ง “ซื่อ” (士) รับผิดชอบด้านกฎหมายและการลงทัณฑ์ เป็นต้น ทั้งยังกำหนดให้มีการตรวจสอบประเมินผลงานทุก 3 ปี และใช้ผลของการประเมิน 3 ครั้งมากำหนดการเลื่อนและลดระดับขั้นของตำแหน่ง
.
ด้วยการปรับปรุงระบบใหม่ให้หน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนแบ่งแยกกันชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ระบบการปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นมาก และขุนนางทุกคนที่เอ่ยนามมาในข้างต้นล้วนแต่มีผลงานอันโดดเด่นไม่ธรรมดาทั้งสิ้น โดยเฉพาะอวี่มีผลงานในการคลี่คลายอุทกภัยโดดเด่นเหนือล้ำเกินใคร โดยได้ทุ่มเทความเพียรพยายามทั้งมวลแก้ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่บิดาของตนทำไม่สำเร็จจนลุล่วงประสบผล
เมื่อพระเจ้าซุ่นชราภาพ ก็เห็นว่า ซางจวิน (商均) บุตรของตนไม่มีคุณสมบัติที่จะสืบตำแหน่งกษัตริย์ต่อจากตน จึงกำหนดให้อฺวี่ที่เป็นที่นับถือของปวงประชามากที่สุดเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งแทน และให้อฺวี่มาลองช่วยบริหารอาณาจักร จากนั้นจึงสละบัลลังก์ให้แก่อฺวี่เหมือนเช่นที่พระเจ้าหยาวเคยสละบัลลังก์ให้แก่ตน
.
#ตำนานจีน #ห้าตี้ #ท่านที่ห้า #พระเจ้าซุ่น #สำนักพิมพ์สุรีย์พร