สี่คนบาป(四罪)ในตำนานจีน ตนที่หนึ่ง ก้งกง (共工)
ก้งกง(共工)เป็นชื่อของตระกูลและชื่อเผ่า เรียกอีกชื่อว่า “ก้งกงซื่อ”(共工氏)เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำในเทพตำนานของจีน เป็นผู้ควบคุมน้ำป่า ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ก้งกงมีเศียรเป็นมนุษย์สองเศียรและมีร่างกายเป็นอสรพิษ มีผมสีแดง พาหนะของก้งกงคือมังกรดำสองตัว เทพก้งกงไม่ถูกกับเทพอัคคีจู้หรง(祝融)มาแต่ไหนแต่ไร และเคยทำสงครามใหญ่กันจนฟ้าดินสั่นสะเทือน สุดท้ายก้งกงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงพาลชนใส่เขาปู้โจวซาน(不周山)จนยอดเขาหักสะบั้น
.
แต่ก้งกงที่เป็นคนจริงในประวัติศาสตร์นั้น กล่าวกันว่าท่านแซ่เจียง (姜) เป็นบุตรของ จู้หรง (祝融) ซึ่งเป็นลื่อ (ลูกของเหลน) ของเหยียนตี้ (炎帝 : จักรพรรดิแห่งไฟ)เขตพื้นที่ของเผ่าก้งกง ปัจจุบันอยู่ในแถบตอนเหนือของมณฑลเหอหนาน ติดกับที่ดินใต้ปกครองของจวนซฺวี เวลานั้นเผ่าที่มีอำนาจมากที่สุด คือเผ่าเสินหนง (神农 : เทพกสิกร)ซึ่งเวลานั้นปกครองโดยส้าวเฮ่า(少昊)แต่เผ่าเสินหนงในเวลานั้นเริ่มเสื่อมอำนาจลง หลังจากส้าวเฮ่าถึงแก่กรรม เผ่าก้งกงที่เริ่มเรืองอำนาจขึ้นมากจึงเปิดศึกชิงอำนาจกับจวนซฺวี และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเผ่าก้งกง
.
ในการศึกระหว่างก้งกงกับจวนซฺวี จวนซฺวีได้รับการช่วยเหลือจากตระกูลเถิงเฝินซื่อ(滕濆氏)ของภรรยา ซึ่งเผ่านี้เป็นลูกหลานสายหนึ่งของจู้หรง แต่เนื่องจากพี่น้องแยกบ้านออกมาแล้วไม่ถูกกัน จึงแปรพักตร์มาช่วยจวนซฺวีเล่นงานก้งกงที่มาจากตระกูลเดียวกัน จนทำให้ก้งกงต้องพ่ายแพ้ และทำให้ในตำนานกล่าวว่า เทพวารีก้งกงต่อสู้กับเทพอัคคีจู้หรง
.
แต่แม้จะพ่ายแพ้ เผ่าก้งกงยังคงแข็งแกร่งมาก หลังจากรบชนะแล้ว จวนซฺวีจึงใช้วิธีแต่งงานเชื่อมสัมพันธไมตรีกับเผ่าก้งกง ท่านก้งกง หัวหน้าเผ่าก้งกงที่รบกับจวนซฺวีเป็นผู้ซึ่งให้ความสำคัญแก่การกสิกรรมอย่างมาก โดยเฉพาะงานทางด้านชลประทานยิ่งทำการศึกษาในเชิงลึกเป็นพิเศษ และเป็นผู้คิดค้นวิธีการสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ และในยุคนั้นอาชีพหลักของผู้คนคือกสิกรรม ดังนั้นประโยชน์ของการชลประทานจึงมีความสำคัญอย่างมาก ท่านก้งกงเป็นอีกผู้หนึ่งหลังจากยุคของท่านเสินหนงที่ได้สร้างคุณประโยชน์มหาศาลในด้านพัฒนาการกสิกรรม เป็นผู้คิดค้นและริเริ่มการสร้างเขื่อน
.
เพื่อที่จะพัฒนาการกสิกรรมและพัฒนาระบบชลประทานให้ดี ท่านก้งกงได้ศึกษาค้นคว้าสภาพพื้นที่ที่ดินภายในเผ่าตน จากนั้นจึงพบว่าในบางพื้นที่ สภาพพื้นที่มีความสูงมากเกินไป ทำให้การถ่ายเทน้ำเพื่อการชลประทานทำได้ลำบาก และมีบางพื้นที่ที่สภาพพื้นที่ต่ำเกินไป ทำให้น้ำท่วมได้ง่าย เนื่องจากสภาพพื้นที่แบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อการชลประทานเป็นอย่างมาก ดังนั้นท่านก้งกงจึงกำหนดแผนการขึ้นมาว่า จะขนดินจากพื้นที่ซึ่งสูงเกินไปไปถมเสริมให้แก่พื้นที่ซึ่งต่ำเกินไป โดยมองว่าการเสริมพื้นที่ต่ำ จะช่วยให้สามารถเพิ่มพื้นที่ในการทำกสิกรรมได้ และการทอนความสูงของพื้นที่สูง จะช่วยให้การถ่ายเทน้ำเพื่อการชลประทานสามารถทำได้สะดวกขึ้น ซึ่งต่างก็เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนากสิกรรม
.
จวนซฺวีไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ของก้งกง โดยอ้างว่า การทำแบบนั้นจะทำให้สวรรค์พิโรธ ด้วยเหตุนี้ทั้งสองฝ่ายจึงได้เปิดศึกทำสงครามกันอย่างดุเดือด ซึ่งสงครามนี้โดยเปลือกนอกแล้วเป็นไปเพื่อการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ ทว่าความจริงคือการแก่งแย่งอำนาจของผู้นำชนเผ่า
.
เนื่องจากในสมัยนั้น ชาวบ้านเชื่อถือในผีสางเทวดาอย่างฝังหัว จึงเชื่อตามที่จวนซวีกล่าวอ้างว่าการทำชลประทานตามที่ก้งกงแนะนำ คือเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนแผ่นดินอจะทำให้สวรรค์พิโรธ และนำพาหายนะมาให้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อจวนซวี จึงพากันต่อต้านวิธีการของก้งกงและหันมาสนับสนุนจวนซวี ทำให้ก้งกงต้องพ่ายแพ้แก่จวนซวีในการรบ
ก้งกงโกรธมาก แต่ก็ยืนกรานเชื่อในผลจากการค้นคว้าของตนว่าการทำตามวิธีการของท่านจะต้องเป็นผลดีต่อการกสิกรรมอย่างแน่นอน และเพื่อจะแสดงให้เห็นในสิ่งที่ตนเชื่อ ก้งกงจึงขี่มังกรทั้งสองตัวสละชีวิตพุ่งเข้าชนบรรพตปู้โจว เพื่อให้ยอดของบรรพตปู้โจว (ปัจจุบันคือเทือกเขาคุนหลุน) ถล่มลงมา
.
บรรพตปู้โจวถูกพุ่งชนหักกลาง ยอดครึ่งบนพังทลายราบลงมาเป็นหน้ากลองทันที จากนั้นผืนฟ้าและแผ่นดินก็เริ่มสั่นคลอน เนื่องจากบรรพตปู้โจวคือเสาค้ำยันผืนฟ้าและแผ่นดินเอาไว้ เมื่อเสาค้ำยันพังทลายไป แผ่นดินก็เอียงล้มไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนผืนฟ้าล้มทลายลงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และเนื่องจากผืนฟ้าล้มทลายลงด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ส่งผลให้หมู่ดาวขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก และเนื่องจากแผ่นดินล้มไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลำธารทั้งหลายต่างไหลมาทางทิศตะวันออกลงสู่ทะเลใหญ่ด้านทิศตะวันออกจนหมดสิ้น
.
ความสามารถและความกล้าหาญในการนำชาวเผ่าของตนต่อสู้กับน้ำท่วมของแม่น้ำฮวงโหอย่างไม่ย่อท้อ ทำให้หลังจากเสียชีวิตแล้ว ก้งกงได้รับการยกย่องจากปวงประชาให้เป็น เทพแห่งการชลประทาน
.
ในบางตำนานโบราณก็จารึกเอาไว้ว่า ผลจากการที่บรรพตปู้โจวทลายลงในครั้งนั้น ได้ทำให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติครั้งใหญ่ จนก่อให้เกิดตำนาน “เทพีหนฺวี่วาหลอมหินห้าสีเพื่ออุดผืนฟ้า” ต่อเนื่องกันมา แต่บางตำนานก็กล่าวเอาไว้ว่า มหาภัยพิบัติที่ทำให้เทพีหนฺวี่วาต้องหลอมหินห้าสีมาอุดผืนฟ้านั้นเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และบรรพตปู้โจวนี้เป็นหนึ่งในสี่บรรพตค้ำยันฟ้าที่เกิดจากขาเต่าที่เทพีหนฺวี่วาตัดมาใช้ค้ำยันแทนเสาค้ำยันฟ้าเดิมที่พังทลายไป
.
ต่อมาจำเนียรกาลได้ผ่านพ้นไปจนถึงยุคของพระเจ้าซุ่น(舜) ก็ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ไปทั่วแผ่นดิน พระเจ้าซุ่นจึงมอบหมายให้ กุ่น (鲧) ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนี้ กุ่นใช้วิธีอุดทางน้ำไหล ซึ่งไม่ได้ผล จึงถูกเนรเทศไปยังอฮวี่ซาน(羽山)จนเสียชีวิตที่นั่น จากนั้นพระเจ้าซุ่นได้มอบหมายให้อฺวี่(禹)บุตรชายของกุ่นทำหน้าที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้สืบต่อ
.
อฺวี่ได้จดจำบทเรียนแห่งความล้มเหลวของบิดา จึงใช้วิธีใหม่ในการแก้ปัญหาอุทกภัย คือวิธีขุดคลองระบายน้ำตามเส้นทางไหลของน้ำและสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก แล้วจึงค่อยสร้างเขื่อนขวางกั้นทางน้ำไหลเป็นการเสริม
.
เนื่องจากวิธีการที่ใช้ถูกต้องและเหมาะสม ทั้งการจัดแบ่งงานก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพชัดเจน ทำให้การแก้ปัญหาอุทกภัยของอฺวี่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว ปวงประชาผู้ประสบความเดือดร้อนต่างก็เริ่มมองเห็นความหวัง
.
เวลานั้นชนเผ่าก้งกงอาศัยอยู่บริเวณทางตะวันตกของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่าเผ่าที่อาศัยอยู่แถบตอนกลางและตอนปลายของแม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำฮวงโหในสมัยโบราณนั้นไม่มีเส้นทางไหลลงสู่ทะเลที่แน่นอน โดยมักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อเผ่าก้งกงที่อยู่ทางต้นน้ำทำการชลประทานเก็บกักน้ำเอาไว้ จึงส่งผลให้เผ่าที่อยู่บริเวณตอนกลางและตอนปลายของแม่น้ำฮวงโหต้องสูญเสียผลประโยชน์ ทำให้เผ่าก้งกงถูกเผ่าซึ่งอาศัยอยู่บริเวณตอนกลางและตอนปลายของแม่น้ำฮวงโหมองเป็นศัตรูเสมอมา
.
ในตอนที่อฺวี่แก้ไขปัญหาอุทกภัย บริเวณที่ตั้งของเผ่าก้งกงถือว่าเป็นบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้ปัญหาอุทกภัย แต่ชาวเผ่าก้งกงไม่ให้ความร่วมมือกับอฺวี่ อฺวี่จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธเข้าแก้ปัญหา สุดท้ายหัวหน้าเผ่าก้งกงรบแพ้ ชาวเผ่าก้งกงทั้งเผ่าก็ถูกเนรเทศขับไล่ไปอาศัยอยู่ยังบริเวณอื่น ส่วนหัวหน้าเผ่าก้งกงรุ่นนี้ก็ถูกตั้งฉายาเป็น 1 ใน 4 คนโฉดในตำนานจีนไป
.
#สำนักพิมพ์สุรีย์พร #ก้งกง #ตำนานจีน