หัวข้อ : เกร็ดความรู้จีน : ปฐมกษัตริย์แห่งปฐมราชวงศ์ของจีน พระเจ้าอฺวี่ (禹)

โพสต์เมื่อ 20 พ.ค. 2561, 11:25

เกร็ดความรู้จีน : ปฐมกษัตริย์แห่งปฐมราชวงศ์ของจีน

พระเจ้าอฺวี่ (禹)



พระเจ้าอฺวี่ (禹) มักถูกเรียกอย่างยกย่องว่า “ต้าอฺวี่” (大禹 : พระเจ้าอฺวี่ผู้ยิ่งใหญ่) เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เซี่ย(夏) ราชวงศ์แรกสุดในประวัติศาสตร์จีน
.
ใน “สื่อจี้” (《史记》)กล่าวว่าพระเจ้าอฺวี่มีนามว่า เหวินมิ่ง (文命) ในบันทึก “ตี้หวางซื่อจี้” (diwangshiji) กล่าวว่าพระเจ้าอฺวี่เดิมแซ่ซื่อ (姒) แต่โดยทั่วไปจะเรียกกันว่า “เซี่ยอฺวี่” (夏禹) ตามความเคยชินของชาวจีนก่อนยุคราชวงศ์ฉินที่มักจะใช้ชื่อเผ่าเป็น “氏”
.
จากที่เล่าลือกัน อฺวี่มีชาติตระกูลค่อนข้างสูง โดยเป็นหลานของจักรพรรดิจวนซฺวี และเป็นเหลนของหวงตี้(黄帝) ทั้งตระกูลของอฺวี่ยังเป็นขุนนางใหญ่รับราชการมาทุกรุ่น บิดาของอฺวี่คือ กุ่น (鲧)ที่แก้ปัญหาอุทกภัยไม่สำเร็จ จนโดนตัดสิทธิ์จากการเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของพระเจ้าหยาว และถูกพระเจ้าซุ่น(舜)สั่งเนรเทศ
.
ในยุคของพระเจ้าซุ่น อฺวี่ดำรงตำแหน่งซือคง (司空) รับผิดชอบจัดการเรื่องน้ำและที่ดิน โดยงานหลักที่สำคัญที่สุดของอฺวี่คือ แก้ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่สืบต่อจากบิดาที่แก้ปัญหานี้ไม่สำเร็จ
.
ในยุคของพระเจ้าหยาว ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่จนภูเขาที่ค่อนข้างเตี้ยจมหายไปเป็นลูกๆ ชาวบ้านและสัตว์ป่าพากันหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขาสูง และชาวบ้านก็ถูกสัตว์ป่าหนีภัยเหล่านี้ฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าความทุกข์ยากและอดอยากแผ่ขยายไปทุกหย่อมหญ้า เมื่อกุ่นได้รับบัญชาจากพระเจ้าหยาวให้ไปแก้ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ กุ่นได้ใช้วิธีอุดทางน้ำไหล แต่ผลลัพธ์คือเมื่ออุดทางนี้ น้ำก็ไปไหลออกทางโน้นแทน อุดเท่าไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ กุ่นใช้วิธีอุดทางน้ำไหลแก้ปัญหาอุทกภัยอยู่นาน 9 ปี จึงกลับไปหาพระเจ้าหยาวด้วยความล้มเหลว
.
เมื่ออฺวี่ได้รับบัญชาจากพระเจ้าซุ่นให้แก้ปัญหาอุทกภัยสืบต่อจากกุ่นผู้เป็นบิดา อฺวี่รวบรวมประสบการณ์ความล้มเหลวของบิดา ออกเดินทางไปทั่วแผ่นดินเพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ซึ่งประสบอุทกภัยด้วยตัวเอง แล้วคิดหาวิธีแก้ปัญหาอุทกภัยวิธีใหม่ โดยวิธีที่อฺวี่ใช้เป็นวิธีที่ตรงข้ามกับกุ่นผู้เป็นบิดา นั่นคือ วิธี “ระบายน้ำ”
.
เนื่องจากตอนต้นของแม่น้ำฮวงโหเป็นพื้นที่สูง ส่วนตอนล่างเป็นที่ราบ น้ำที่ไหลบ่าจึงมีความรุนแรงสูงมากจนกลายเป็นอุทกภัยได้ง่าย อฺวี่จึงเดินทางสู่ต้นแม่น้ำฮวงโห แล้วขุดคูคลองระบายน้ำตามทิศทางการไหลของน้ำ ชักนำน้ำส่วนเกินให้ไหลลงสู่ทะเลป๋อห่าย (渤海)
การแก้ปัญหาอุทกภัยของอฺวี่ที่ประทับใจผู้คนมากที่สุดอยู่ที่ความมานะพยายามทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจเต็มที่อย่างไม่ย่อท้อ ถึงขนาดว่าตอนที่ได้รับบัญชาให้ออกเดินทางแก้ปัญหาอุทกภัยนั้น อฺวี่เพิ่งจะแต่งงานได้เพียงไม่กี่วัน แต่ตลอดช่วงเวลา 8 ปีที่ตระเวนแก้ปัญหาอุทกภัยไปทั่วอาณาจักร (บ้างก็ว่า 13 ปี) มีอยู่ 3 ครั้งที่อฺวี่เดินทางผ่านหน้าบ้านของตัวเอง แต่อฺวี่ก็ไม่กล้าย่างเท้าเข้าไปในบ้านเลยสักครั้งทั้งที่ในบ้านนั้นมีบุตรชายที่ตนไม่เคยได้เห็นหน้าแม้สักครั้ง เพราะเกิดมาหลังจากที่ตนออกเดินทางไปแก้ปัญหาอุทกภัยแล้วอยู่
.
ในระหว่างแก้ปัญหาอุทกภัย แม้อฺวี่จะเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านนี้ที่มีตำแหน่งสูงที่สุด แต่อฺวี่ก็ถือเครื่องมือลงไปช่วยชาวบ้านขุดคูคลองระบายน้ำอย่างแข็งขัน ถึงขนาดเล่าขานกันว่าในระหว่างที่แก้ปัญหาอุทกภัยนี้ เท้าของอฺวี่แช่น้ำมากเกินไปจนเปื่อย ขนบนท่อนขาร่วงหายไปจนหมด
.
ในระหว่างที่อฺวี่ออกเดินทางแก้ปัญหาอุทกภัย ก็ได้สังเกตดูชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และชี้แนะให้มีการพัฒนาการกสิกรรมไปด้วยพร้อมกัน โดยเฉพาะด้านการชลประทาน สร้างคูคลองที่ทั้งช่วยระบายน้ำเวลาน้ำหลากและช่วยทำให้น้ำสามารถเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกได้มากขึ้น
.
ในคัมภีร์ “ซ่างซู”(《尚书》)จารึกตำนานเรื่องที่อฺวี่แบ่งอาณาจักรออกเป็นจิ่วโจว (九州 : เก้าเขตแดน) โดยที่ตำแหน่งและทิศทางการทอดตัวของขุนเขา ลักษณะและคุณสมบัติของดิน การกระจายตัวของผลผลิต ระดับของเครื่องบรรณาการ ระดับของสิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนเส้นทางในการขนส่งลำเลียงเครื่องบรรณาการ ข้อมูลเหล่านี้ล้วนแต่มีบันทึกเอาไว้ใน “ซ่างซู” ทั้งสิ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่อฺวี่สังเกต สำรวจ และจดบันทึกเอาไว้ด้วยพร้อมกันในช่วงเวลาที่ตระเวนเดินทางแก้ปัญหาอุทกภัยไปทั่วแผ่นดิน และเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่อย่างมากของอฺวี่อีกประการหนึ่ง
.
จิ่วโจว(九州) เป็นการแบ่งเขตการปกครองครั้งแรกสุดของจีน โดยก่อนหน้านั้นมีแต่แบ่งเป็นชนเผ่าต่างๆ เท่านั้น และจนถึงปัจจุบัน คำว่า “จิ่วโจว” ก็ยังคงเป็นคำใช้เรียกประเทศจีนทั้งประเทศอยู่
.
เนื่องจากอฺวี่สร้างความดีความชอบอย่างมหาศาลในการแก้ปัญหาอุทกภัยได้สำเร็จ จึงได้รับความเคารพนับถือและรักใคร่เทิดทูนจากปวงประชาทั่วแผ่นดินเป็นอันมาก พระเจ้าซุ่นจึงกำหนดให้อฺวี่เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งแทนตน แล้วสละบัลลังก์ให้แก่อฺวี่
.
เมื่อพระเจ้าอฺวี่ขึ้นครองราชย์ ก็ได้ตั้งชื่อรัชกาลของตนว่า “เซี่ย” (夏)
หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าอฺวี่ประพฤติตนเช่นเดียวกับพระเจ้าหยาวและพระเจ้าซุ่น นั่นคือเป็นอยู่อย่างประหยัดสมถะ รับประทานแต่ข้าวต้มจืดชืด สวมเสื้อผ้าเนื้อหยาบ อาศัยอยู่ในวังที่เล็กและเรียบง่ายจนดูไม่เหมือนวัง แต่กับขุนนางและปวงประชาของตนแล้ว พระเจ้าอฺวี่ปูนบำเหน็จให้อย่างไม่มีการตระหนี่ถี่เหนียวแม้แต่น้อย ในพิธีเซ่นไหว้เทพเทวาเจ้าป่าเจ้าเขาก็จัดอย่างใหญ่โตอลังการทุกครั้งเช่นกัน ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าพระเจ้าอฺวี่เป็นอยู่อย่างประหยัดเพื่อจะได้มีเหลือกินเหลือใช้มาสร้างประโยชน์ให้แก่ปวงประชาและอาณาจักรโดยแท้
.
แต่ขณะเดียวกันหลังจากพระเจ้าอฺวี่ขึ้นครองราชย์ เผ่าต่างๆ ในจงหยวน (中原 : ภาคกลางของจีน) ก็ค่อยๆ เริ่มแปรสภาพเป็นกลุ่มที่มีเผ่าเซี่ยของพระเจ้าอฺวี่เป็นศูนย์กลางการปกครองไปทีละน้อย พระเจ้าอฺวี่ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของกลุ่มนี้เริ่มค่อยๆ มีอำนาจสิทธิ์ขาดของกษัตริย์ พระเจ้าอฺวี่ได้กำหนดข้อกำหนดบางข้อขึ้น ได้แก่ หากชนเผ่าใดไม่เชื่อฟังคำสั่ง จะถูกลงทัณฑ์เป็นการลงโทษ นอกจากนี้พระเจ้าอฺวี่ยังยกทัพไปกำราบชนเผ่าซานเหมียว(三苗)ที่ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ปราบทัพซานเหมียวจนพ่ายแพ้ และทุบตีหัวหน้าเผ่าซานเหมียวจนถึงแก่ความตาย
.
ด้วยเหตุนี้ในยุคของพระเจ้าอฺวี่ อำนาจของโอรสสวรรค์จึงสูงกว่าในยุคของพระเจ้าหยาวและพระเจ้าซุ่น เล่าขานกันว่าเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ราชวงศ์เซี่ย หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าอฺวี่ได้แบ่งดินแดนในปกครองออกเป็นจิ่วโจว (เก้าเขต) และนัดหมายให้บรรดาหัวหน้าเผ่าใต้ปกครองทั้งหมดมาพบที่ภูเขาถูซาน (涂山) โดยมีหัวหน้าเผ่าต่างๆ มาเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนถึงหนึ่งหมื่นเผ่า และเพื่อเป็นการระลึกถึงการประชุมอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ อฺวี่ได้นำโลหะทองสัมฤทธิ์ที่เหล่าหัวหน้าเผ่านำมาบรรณาการหลอมเป็นติ่ง(鼎)ขึ้นมา 9 ใบ เป็นความหมายรวมแผ่นดินจิ่วโจวเป็นหนึ่งเดียว และเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์เซี่ย

พระเจ้าอฺวี่ไม่เพียงแต่มีอำนาจในการออกคำสั่งเรียกประชุมเหล่าหัวหน้าเผ่าเท่านั้น ทว่ายังมีอำนาจสั่งประหารหัวหน้าเผ่าเหล่านั้นได้อีกด้วย ในยุคของพระเจ้าอฺวี่ อิทธิพลอำนาจของจีนได้แผ่ขยายไปถึงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงและลุ่มแม่น้ำหวยเหอ (淮河)

หลังจากพระเจ้าซุ่นสวรรคต พระเจ้าอฺวี่ได้ไว้ทุกข์ให้เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นสละตำแหน่งโอรสสวรรค์ให้แก่ซางจฺวิน(商均) บุตรของพระเจ้าซุ่น แต่เหล่าหัวหน้าเผ่าต่างทำเช่นเดียวกับในตอนที่ซุ่นสละตำแหน่งโอรสสวรรค์ให้แก่ตานจู(丹朱) นั่นคือต่างพากันไปเยือนขอคำสั่งและคำแนะนำด้านการปกครองแต่กับพระเจ้าอฺวี่โดยไม่สนใจจะไปเข้าพบซางจวิน พระเจ้าอฺวี่จึงจำต้องขึ้นครองราชย์เป็นโอรสสวรรค์ต่อไปอย่างไม่มีทางเลี่ยง

เมื่อพระเจ้าอฺวี่ชราภาพ ก็ยกบัลลังก์ให้แก่ฉี่(启) บุตรชายของตน ทำให้ประวัติศาสตร์จีนก็เริ่มเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มรูปแบบ


แก้ไขเมื่อ 22 พ.ค. 2561, 17:32 โดย Admin

Admin เข้าร่วมเมื่อ 20 พ.ค. 2561, 11:25

0 ความคิดเห็น