หัวข้อ : เกร็ดความรู้ เทศกาลตวนอู่ (端午)กินบ๊ะจ่าง

โพสต์เมื่อ 27 มิ.ย. 2561, 08:33


เกร็ดความรู้ เทศกาลตวนอู่ (端午)กินบ๊ะจ่าง

 


เทศกาลตวนอู่กินบ๊ะจ่าง
.
เทศกาลตวนอู่ (端午节 : Duanwujie : ตวนอู่เจี๋ย) ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นเทศกาลที่สืบทอดมายาวนานกว่า 4000 ปี และสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
.
คำว่า “ตวน” (端) แปลว่า “เริ่มต้น” , “ขึ้น...ค่ำ” ดังนั้น “วันขึ้น 5 ค่ำ” จึงเรียกว่า “ตวนอู่” (端五 : 五 อ่านว่า “อู่” แปลว่า 5) ชาวจีนโบราณใช้ “12 ตี้จือ” (十二地支) ในการนับเดือน (และนับชั่วยาม) ซึ่ง 12 ตี้จือลำดับที่ 5 คือตัว “อู่” (午) ดังนั้นเทศกาลตวนอู่ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำเดือน 5 ของจีน จึงถูกเรียกโดยการเล่นคำว่า “ตวนอู่” (端午) ด้วยเหตุนี้ (วันขึ้น 5 ค่ำ (端五 - ตวนอู่) ของเดือน 5 (เดือนอู่ - 午))
.
เทศกาลตวนอู่ได้รับการขนานนามร่วมกับเทศกาลตรุษจีน เทศกาลเช็งเม้ง เทศกาลไหว้พระจันทร์ ว่าเป็นเทศกาลสืบทอดประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวจีนพื้นบ้าน
ในราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะถึงเทศกาลตวนอู่ ซึ่งปกติจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ในเมืองไทย เรามักจะเริ่มเห็นคนเชื้อสายจีนบางบ้านหุงข้าวเหนียวห่อด้วยใบไผ่เป็นขนมจั่งแบบต่างๆ ทั้งแบบใส่สารพัดไส้ลูกใหญ่ และแบบข้าวเหนียวล้วนลูกเล็ก นึ่งจนสุกนำมาวางจำหน่ายในตลาด หรือทำไว้รับประทานในครอบครัว เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าใกล้จะถึงวันเทศกาลตวนอู่แล้ว
.
/////////////////////////////////////////////////
.
ประวัติความเป็นมาของเทศกาลตวนอู่
.
นักวิชาการได้ร่วมกันค้นคว้าจนสรุปได้ว่า เทศกาลตวนอู่เริ่มมีตั้งแต่ยุคราชวงศ์เซี่ย (夏 : Xia ประมาณ 1530-1060 ปีก่อนพุทธกาล เป็นราชวงศ์แรกสุดของจีน) แต่ในตอนแรกเริ่มนั้น เทศกาลตวนอู่คือเทศกาลฉลองฤดูร้อน เนื่องจากเดือน 5 คือกลางฤดูร้อนตามสภาพภูมิอากาศของประเทศจีน
.
ส่วนประเพณีการกินบ๊ะจ่างที่คนไทยเราคุ้นเคย และประเพณีปฏิบัติอื่นๆ ของเทศกาลตวนอู่ที่คนจีนส่วนใหญ่คุ้นเคยนั้น มีที่มาจากชฺวีหยวนในยุคเลียดก๊ก (战国 : Zhanguo : จ้านกว๋อ พ.ศ. 69-323) ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศจีนแตกออกเป็น 7 แคว้น ก่อนจะถูกพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้รวมทั้ง 7 แคว้นเป็นหนึ่งเดียว และสถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้น
.
ชฺวีหยวน (屈原) เป็นชาวแคว้นฉู่ (楚) เป็นกวีเลื่องชื่อและนักการปกครองรักชาติที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในประวัติศาสตร์จีน เป็นผู้ให้กำเนิดรูปแบบบทกวี “ฉู่ฉือ” (楚辞)
ชวีหยวนได้ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดแม่น้ำมี่หลัว (汨罗江) ในวันตวนอู่ เนื่องจากสิ้นหวังในการปกครองของเจ้าแห่งแค้วนฉู่และการเมืองของแคว้นฉู่ หลังจากชฺวีหยวนฆ่าตัวตาย ชาวบ้านพากันพายเรือออกตามหาศพของชฺวีหยวน พร้อมกับห่อข้าวเหนียวด้วยใบไผ่โยนลงในแม่น้ำเพื่อให้ปลามากินข้าวเหนียวนี้ จะได้ไม่ไปกินศพของชฺวีหยวน จนกลายมาเป็นประเพณีแข่งเรือมังกรและประเพณีกินขนมจั่งในเทศกาลตวนอู่นับแต่นั้นมา
.
นอกจากชฺวีหยวนแล้ว เทศกาลตวนอู่ยังมีที่มาอีกหลายสาย ซึ่งจะทยอยกล่าวถึงในคราวต่อไป
.
/////////////////////////////////////////
.
สิ่งที่ชาวจีนนิยมทำในเทศกาลตวนอู่

1. แข่งเรือมังกร กล่าวกันว่าที่มาของการแข่งเรือมังกร คือเมื่อครั้งชฺวีหยวนกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ชาวบ้านแคว้นฉู่ที่ได้ทราบพากันรีบพายเรือไปช่วยโดยด่วน อาศัยการเร่งพายเรือฝ่าลำน้ำให้ฝูงปลาตกใจหนีไปไม่มากินศพของชฺวีหยวน และเร่งพายเพื่อรีบหาร่างของชฺวีหยวนให้พบ
.
เกี่ยวกับที่มาของการแข่งเรือมังกรนี้ มีหลายกระแส หนึ่งในนั้นคือเรื่องเร่งพายเรือออกไปช่วยชฺวีหยวน อย่างไรก็ตาม ในภายหลังการแข่งเรือมังกรได้กลายเป็นประเพณีหนึ่งในเทศกาลตวนอู่ โดยจะมีการนำเรือที่ขุดจากต้นไม้ต้นเดียว แกะสลักเป็นรูปมังกรมาพายแข่งกันนั้น
.
2. ทำขนมจั่งเซ่นไหว้ชฺวีหยวน
“ขนมจั่ง” (粽子 : จ้งจื่อ) หรือ “บ๊ะจ่าง” แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
.
1) แบบมีไส้ เรียกว่า “บ๊ะจ่าง” ตามสำเนียงฮกเกี้ยน หรือ “โร่วจ้ง” (肉粽 : ròu zòng) ตามสำเนียงกลาง เป็นอาหารคาวของจีน บ๊ะจ่างของชาวจีนแต้จิ๋ว มี 2 แบบ คือแบบหวาน และแบบเค็ม โดยแบบหวานนั้นทำด้วยเผือก ส่วนผสมทั่วไปเป็นข้าวเหนียวนำมาผัดด้วยน้ำมัน มีไส้หมูเค็ม หรือหมูพะโล้ กุนเชียง ไข่แดงเค็ม กุ้งแห้ง เห็ดหอม เป็นต้น ห่อด้วยใบไผ่แล้วนึ่งให้สุก
.
2) แบบไม่มีไส้ เรียกว่า “กีจั่ง” หรือ ขนมจ้างจืด สำหรับคนที่กินเจ ทำจากข้าวเหนียวแช่น้ำด่างที่ต้มสุก ห่อเป็นห่อเล็กๆ จิ้มกินกับน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดง
เนื่องจากคำว่า “ห่อบ๊ะจ่าง” (包粽) ในภาษาจีนจะพ้องเสียงกับคำว่า “รับรองว่าสอบติด” (包中) ผู้ปกครองจึงมักนิยมให้ลูกหลานของตนกินบ๊ะจ่าง โดยหวังว่าลูกหลานจะสอบผ่านติดด้วย
.
ประเพณีกินบ๊ะจ่างสืบทอดมานับพันปี และยังแพร่หลายไปยังประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศในแถบภาคพื้นเอเชียอาคเนย์
.
3. ให้เด็กๆ พกถุงหอม โดยกล่าวกันว่าเพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลและขับไล่โรคระบาด แต่ความจริงคือใช้เป็นเครื่องประดับ
.
4. ทุกบ้านจะเสียบเฮียเฮียะ (艾叶) และว่านน้ำ (菖蒲) ไว้ตรงคิ้วประตู หรือแขวนไว้ในห้องโถงเพื่อไล่กลิ่นอับ ซึ่งพืชทั้งสองชนิดนี้ต่างเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ช่วยกระตุ้นเลือดลม ขับไล่หนอนแมลง เหมาะกับฤดูร้อนที่มีแมลงมากเป็นพิเศษ
.
5. อาบน้ำหญ้าหอม คนในสมัยโบราณเด็ดหญ้าหอมในเดือนห้า นิยมใช้หญ้าหอมอาบน้ำขจัดพิษ ในยุคราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง ยังเรียกเทศกาลตวนอู่ว่าเดือนแห่งการอาบหญ้าหอม
.
6. เด็กๆ ทางใต้จะเล่นว่าวในเทศกาลตวนอู่ เรียกว่า “放殃” (ฟั่งยาง)
.
7. จะมีการใช้ “เชือกห้าสี” ผูกไว้ที่ข้อมือและข้อเท้าของเด็กๆ โดย “ห้าสี” ดังกล่าวนี้ ได้แก่ สีเขียว (ธาตุไม้), สีแดง (ธาตุไฟ), สีขาว (ธาตุทอง), สีดำ (ธาตุน้ำ), สีเหลือง (ธาตุดิน) ตามสีของธาตุทั้ง 5 ซึ่งเชื่อกันว่า จะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง
.
8. ใช้หรดาลแต้มที่หน้าผากของเด็กๆ โดยเชื่อว่าจะช่วยไล่หนอนแมลงมีพิษได้
.
ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้กำหนดให้เทศกาลตวนอู่เป็นวันหยุดราชการ
.
เดือนกันยายน ค.ศ. 2009 สหประชาชาติยูเนสโกได้พิจารณาและอนุมัติอย่างเป็นทางการให้รวมเทศกาลตวนอู่เป็นเทศกาลมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลก และกลายเป็นเทศกาลแรกของประเทศจีนที่ได้รับเลือกเป็นเทศกาลมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลก
.
#เกร็ดความรู้จีน #เทศกาลบ๊ะจ่าง #สนพสุรีย์พร


แก้ไขเมื่อ 27 มิ.ย. 2561, 08:33 โดย Admin

Admin เข้าร่วมเมื่อ 27 มิ.ย. 2561, 08:33

0 ความคิดเห็น